ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก และมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งการให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่น ยังทำให้เกิดวัฎจักรต่างๆ บนโลก เช่น กลางวันกลางคืน ฤดูกาลต่างๆ และนอกจากนี้แสงแดดที่มาจากดวงอาทิตย์ยังเป็นส่วนในการสร้างวิตามิน D ให้กับเราได้อีกด้วย
แต่ในประโยชน์ที่มีอยู่มากมายของแสงแดด ก็ยังมีโทษของแสงแดดที่เราต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะโทษที่มีต่อผิวหนังของเรา เพราะการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียต่างๆ มากมาย เช่น ผิวเกิดรอยหมองคล้ำ ฝ้า กระ หรืออาจรุนแรงจนผิวไหม้ ในบางรายอาจสะสมลุกลามจนนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพผิวให้ปลอดภัยจากอันตรายจากแสงแดดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เรียนรู้และเข้าใจแสงแดด : รังสี UV
แสงแดดที่ส่องมายังโลกนั้นจะประกอบด้วยรังสีและแสงหลายชนิด ที่เรารู้จักดีก็คือ แสงสว่าง (Visible Light) ที่ประกอบด้วยคลื่นแสงสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง และยังมีรังสีต่างๆ ที่ตาของเรามองไม่เห็น เช่น รังสีเอ๊กซ์ รังสีคอสมิก รังสีอัลตราไวโอเลต โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีผลต่อผิวหนังของเรามาก

รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสี UV (Ultraviolet : UV) เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 200-400 นาโนเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
- รังสี UVA มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 320-360 นาโนเมตร มีพลังงานต่ำสุดแต่สามารถส่งผ่านรังสีได้ลึกมาก สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงสร้างชั้นผิวหนัง นั่นคือ หากเรารับรังสี UVA นี้ แม้ในปริมาณน้อยก็สามารถส่งผลกระทบได้ถึงชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) เลยทีเดียว ส่งผลทำให้เม็ดสีเมลานินที่มีสีเข้มซึ่งอยู่ในผิวของเราทำงานมากขึ้น ทำให้ผิวคล้ำและเกิดรอยหมองคล้ำได้ นอกจากนี้ การรับรังสี UVA สะสมไปในระยะยาวยังเป็นการกระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระ ทำให้ความยืดหยุ่นกระชับผิวของเราลดลง เป็นสาเหตุสำคัญของริ้วรอยก่อนวัยและผิวเหี่ยวย่นได้เช่นกัน
- รังสี UVB มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 280-320 นาโนเมตร รังสี UVB สามารถส่งผ่านรังสีทะลุผ่านผิวหนังในชั้นสเตรตัม คอร์เนียม (Stratum corneum) และชั้นอีพิเดอมีส (Epidermis) ทำให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังของเรา คือ เกิดรอยผื่นแดง แสบผิว หรือผิวหนังในชั้นนอกเป็นรอยไหม้ได้
- รังสี UVC มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 200-280 nm. ซึ่งเป็นช่วงความยาวคลื่นที่สั้นที่สุด จึงมีพลังงานมากที่สุดด้วย แต่รังสี UVC เกือบทั้งหมดจะถูกชั้นบรรยากาศของโลก (โอโซน) กรองไว้ก่อนแล้ว จึงมีรังสี UVC ในปริมาณน้อยเท่านั้นที่ส่งมายังโลก แต่ถึงแม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย รังสี UVC ก็สามารถทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนังและทำให้ผิวคล้ำได้
ในปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าปริมาณรังสี UVC ที่ส่งมายังพื้นโลกน่าจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการปริมาณชั้นบรรยากาศของโลกที่ลดลง จึงทำให้สภาพผิวของเรามีโอกาสได้รับอันตรายเพิ่มมากขึ้นไปด้วยนั่นเอ
รู้หรือไม่ ทำไมโดนแดดแล้วผิวจึงดำ??
ในเซลล์ผิวหนังมีกลไกที่ช่วยในการปกป้องผิวของเราให้ปลอดภัย เราเรียกว่า “เม็ดสีเมลานิน” (Melanin) ซึ่งเราสัมผัสกับแสงแดดและได้รับรังสี UV ผิวหนังของเราจะทำการส้รางเม็ดสีเมลานินที่มีสีเข้มขึ้นปกคลุมเพื่อป้องกันไม่ให้รังสี UV เข้าไปทำอันตรายในชั้นเซลล์ผิวของเราได้ ยิ่งเราสัมผัสกับแสงแดดมากเท่าไร เม็ดสีเมลานินก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโดนแดดแล้วผิวจึงดำ

แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการที่เรามีเม็ดสีเมลานินเหล่านี้ปกป้องผิวแล้ว เราจะสามารถออกไปโดนแดดได้อย่างเต็มที่ เพราะการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานย่อมทำให้การทำงานของเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดความผิดปกติและกลายเป็นผลเสียต่อผิวในด้านต่างๆ แทน เช่น เกิดเป็นฝ้า กระ ผิวหนังเกิดเป็นรอยไหม้ จุดด่างดำ เกิดริ้วรอยก่อนวัย ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นโรคแพ้แสงแดด หรือลุกลามสะสมเป็นมะเร็งผิวหนังได้อย่างที่กล่าวมาข้างต้น
ทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์กันแดด
การดูแลผิวให้กระจ่างใสโดยไม่ต้องกลัวกับแดดนั้นสามารถทำได้ไม่ยากแล้ว เพราะในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดผลิตออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ทั้งนั้นเราต้องทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ชัดเจนและเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดให้เหมาะสมกับสภาพผิวและกิจกรรมกลางแดดที่เราจะทำด้วย
ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์กันแดดมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันรังสี UV โดยการดูดซับรังสีไว้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะมีสารที่จะเคลือบอยู่บนผิวหนังเพื่อดูดกลืนรังสี UV ไว้ ไม่ให้ทะลุเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง จากนั้นจึง คายพลังงานออกมาในรูปของรังสีที่ไม่เป็นอันตราย แต่ผลิตภัณฑ์กันแดดในกลุ่มนี้อาจมีสารบางส่วนที่สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังและเกิดอาการแพ้ได้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนใช้เสมอ สารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เช่น แอนทรานิเลต (Anthranilate) เบนโซฟีโนน (Benzophenone) ซินนาเมต (Cinnamate) ซาลิไซเลต (Salicylate)
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันรังสี UV โดยการสะท้อนรังสีออก ผลิตภัณฑ์สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนัง และสะท้อนหรือกระจายรังสี UV ที่มากระทบกับผิว สารในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง เกิดโอกาสแพ้ได้น้อย แต่อาจมีข้อด้อยตรงที่เมื่อทาแล้วจะเป็นปื้นขาว แลดูไม่เป็นธรรมชาติ ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ด้วยการใช้สารที่มีอนุภาคเล็กลง เพื่อทำให้ไม่เกิดรอยปื้นขาว และช่วยเพิ่มพื้นที่ในการกระจายหรือสะท้อนรังสี UV ได้อีกด้วย สารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เช่น ซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide) ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide)
เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดดูแลผิวให้กระจ่างใส
สำหรับคนที่ต้องการเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดเพื่อปกป้องผิวให้กระจ่างใส อาจจะสงสัยว่าที่ข้างขวดมีการเขียนคำว่า SPF50 บ้าง SPF30 บ้าง หรือ PA++ หลายคนไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร
SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UVB โดยคำนวณจากระยะเวลาที่สัมผัสกับแสงแดดจนผิวแดงกับลักษณะผิวของแต่ละคน ตัวเลขที่ต่อท้าย เช่น SPF 30 นั้น ยิ่งมีค่าตัวเลขมาก การปกป้องผิวจากรังสี UVB ก็ยิ่งมากด้วย
เช่น สมมุติถ้าผิวของเรามีความต้านทานต่อแสงแดดได้ 30 นาที ก่อนที่จะเริ่มคล้ำ หากเราใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF30 จะเท่ากับเพิ่มเป็น 30 นาที x 30 = 900 นาที

อาจแสดงค่า SPF ของผลิตภัณฑ์กันแดดได้ดังนี้
ค่า SPF | การป้องกันรังสี UVB |
2 | 50% |
4 | 75% |
8 | 87.5% |
15 | 93.3% |
20 | 95% |
30 | 96.7% |
45 | 97.8% |
60 | 98% |
ส่วน PA (Protection Grade of UVA) เป็นค่าคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสี UVA ส่วนเครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้น คือ ค่าความสามารถในการปกป้องผิวโดยวัดเป็นจำนวนเท่าของการเกิดผิวคล้ำ ยิ่งจำนวน + มาก การปกป้องผิวจากรังสี UVA ก็ยิ่งมาก
PA+ = มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA
PA++ = มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง
PA+++ = มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด
ปฏิบัติตัวอย่างไรให้ผิวกระจ่างใสเมื่อจำเป็นต้องออกแดด
คงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ชีวิตโดยไม่สัมผัสกับแสงแดดเลย ดังนั้นการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเพื่อออกแดดจะช่วยป้องกันผิวไม่ให้หมองคล้ำจึงเป็นเรื่องจำเป็น ดังนี้
– ทาผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF และ PA เหมาะสมก่อนออกแดดเสมอ เพื่อปกป้องผิวจากอันตรายของแสงแดด และควรพกผลิตภัณฑ์กันแดดติดตัวไว้เสมอ เพื่อเอาไว้ทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง

– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงถ้าสามารถทำได้ เช่น พกร่มกันแดด หรือสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด
– ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดการสูญเสียความชุ่มชื่นตามธรรมชาติในผิว และอาจเสริมด้วยอาหารที่มีวิตามิน C สูง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว เพราะวิตามิน C มีส่วนในการกระตุ้นให้ผิวกระจ่างใส และมีสารต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย
– หลังออกแดดอาจทาผิวด้วยผลิตภัณฑ์ After Sun เพื่อลดอาการระคายเคือง แสบ ผื่นแดงจากการสัมผัสแสงแดด ฟื้นฟูสภาพผิวหลังการออกแดดได้ดี
เพียงเท่านี้ง่ายๆ ก็จะช่วยให้ผิวของเรากระจ่างใสได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องกลัวแดดกันแล้วนะ
ที่มาของข้อมูล
- “แสงแดดกับผิวหนัง” นายแพทย์สิริ เชี่ยวชาญวิทย์ http://www.med.cmu.ac.th/etc/princefund/file/8.pdf
- “แสงแดด…ดาบสองคมที่ควรรู้” แพทย์หญิงณัฏฐา รัชตะนาวิน https://www.doctor.or.th/article/detail/1632
- “ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวอย่างไร?” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=38
- ชุมชนผู้หญิงสุขภาพดี http://www.goodlywomen.com/