ทำความเข้าใจกับเส้นขนบนตัวเราก่อน

อวัยวะทุกส่วนที่อยู่ในร่างกายต่างมีหน้าที่และมีประโยชน์ที่แตกต่างกันไป  แม้แต่อวัยวะที่เล็กมากอย่าง “เส้นขน”  ที่เราเห็นอยู่ตามจุดต่างๆ บนร่างกาย  เส้นขนเล็กๆ เหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกายที่ไม่ได้เล็กอย่างขนาดของมันเลย  แต่หลายคนก็ยังไม่รู้เลยว่ามันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

เส้นขน  (Hairs)   เป็นสิ่งที่งอกขึ้นปกคลุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย  เช่น  บนศีรษะ  ตามร่างกาย  รักแร้  หน้าแข้ง  หรือบริเวณอวัยวะเพศ  มีหลายขนาด  หลากสี  รวมถึงรูปแบบและปริมาณที่แตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของเส้นขนนั้นมีกรรมพันธุ์เป็นอย่างไร   หรือเป็นคนเชื้อชาติไหน   เช่น  ผู้ชายอาจมีเส้นขนขนาดใหญ่และหยิก  ผู้หญิงอาจมีเส้นขนขนาดเล็กและอ่อนนุ่ม  คนเอเชียอาจจะมีเส้นขนสีดำ  คนยุโรปอาจจะมีเส้นขนสีบลอนด์   เป็นต้น

เส้นขนแต่ละจุดนั้นก็จะทำหน้าที่แตกต่างกันไป

  • เส้นขน (เส้นผม) ที่อยู่บนศีรษะ  ป้องกันไม่ให้ศีรษะสัมผัสกับความร้อนหรือความเย็นโดยตรง  ให้ความอบอุ่นกับศีรษะ
  • เส้นขนตามร่างกาย  ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
  • เส้นขนที่รักแร้และอวัยวะเพศ  ให้ความอบอุ่นและช่วยลดแรงเสียดสีในระหว่างที่เราเคลื่อนไหว
  • เส้นขนในรูจมูกและรูหู  ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ให้เข้าไปได้

เส้นขนนั้นมีลักษณะเป็นเซลล์แบนและยาววางซ้อนกัน  ประกอบด้วยเคราตีน  (Keratin) ที่อยู่ชั้นนอกที่คอยปกป้องเส้นขนให้มีความแข็งแรง  และภายในจะมีเม็ดสีเมลานินเช่นเดียวกับที่มีอยู่ในผิวของเรา  ซึ่งจะให้สีของเส้นขนตามลักษณะธรรมชาติของเจ้าของเส้นขนนั้น  เส้นขนจะประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • เส้นขน เป็นส่วนของเส้นขนที่งอกออกจากผิวหนังขึ้นมา
  • รากขน เป็นส่วนที่อยู่ภายในผิวหนัง  วางตัวเอียงทำให้เส้นขนเอียงไปด้วย   โดยส่วนลึกของรากขนจะโป่งเป็นกระเปาะและมีส่วนของหนังแท้ยื่นเข้าไปภายในกระเปาะนี้
  • ขุมขน เป็นส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ ยื่นลึกเข้าไปถึงเยื่อใต้หนัง มาประกอบเป็นท่อล้อมรอบรากขน มีท่อของต่อมไขมันมาเปิดสู่ขุมขน

วงจรการเกิดของเส้นขนนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงระยะเวลา  ดังนี้

  1. ระยะเติบโต (Anagen Phase) เป็นช่วงที่เราจะพบเห็นได้บนตัวของเราเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 80%   หากไม่มีสิ่งอื่นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  เช่น  การถอนขน  การแพ้สารต่างๆ  ผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด
  2. ระยะเสื่อมสภาพ (Catagen Phase) เป็นช่วงที่เส้นขนหยุดการเจริญเติบโต และเตรียมที่จะหลุดร่วงออกไป
  3. ระยะฟักตัว (Telogen Phase) เป็นช่วงที่ขนพร้อมจะหลุดร่วงออกจากร่างกาย และเกิดมีขนเส้นใหม่งอกขึ้นมาแทน

ประโยชน์มากมาย  แล้วทำไมหลายคนกลับไม่ชอบเส้นขน?

เส้นขนนั้นมีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามาก  แต่ก็มีเส้นขนบางจุดที่สร้างความกวนใจให้กับเจ้าของเส้นขนนั้น  โดยเฉพาะคุณผู้หญิงกับเส้นขนต่างๆ ถือเป็นของที่ไม่เข้ากัน  อยากจะกำจัดให้มันหมดไป  เพราะเส้นขนเหล่านี้มาบั่นทอนความสวยและความมั่นใจของพวกเธอให้มันหมดไป  โดยเฉพาะถ้าเส้นขนเหล่านั้นมีจำนวนที่มากเกินไป

ตัวอย่างง่ายๆ  เช่น  ขนรักแร้  ที่หากปล่อยไว้จนยาว  รกรุงรัง  ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายนั้น  ปัญหาที่ตามมาคือ  เราจะมีกลิ่นตัวที่มากขึ้น  และสำหรับคุณผู้หญิงแล้ว  การมีขนรักแร้ก็ทำให้อดได้อวดวงแขนขาวใส  หรือหากกำจัดอย่างไม่ถูกวิธีผิวบริเวณใต้วงแขนก็จะกลายเป็นผิวหนังไก่ที่น่ามองเอาเสียเลย

และยังมีเส้นขนตามจุดต่างๆ ที่ทำให้ความมั่นใจของผู้หญิงลดลง  เช่น  ขนตามแขน  ขนหน้าแข้ง  หรือหนวดเล็กๆ บางๆ ที่ขึ้นอยู่ที่ริมฝีปาก  ก็ล้วนแต่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าความสวยของตัวเองลดลง  ดูรกรุงรัง  ไม่น่ามอง

หลากหลายกับวิธีกำจัดขน

เมื่อเส้นขนในบางจุดสร้างความหนักใจให้กับผู้เป็นเจ้าของ  จึงมีหลากหลายวิธีที่ถูกนำมาใช้ในการกำจัดขนเหล่านั้นให้ออกไปจากชีวิต  ซึ่งมีด้วยกันดังนี้

  1. การถอนขน เป็นวิธีที่มักใช้กับเส้นขนบริเวณรักแร้เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้แหนบถอนออก  วิธีนี้จะกำจัดขนได้ถึงราก  ขนใหม่จะงอกใน 1-2 สัปดาห์  แต่ค่อนข้างเจ็บ  และส่งผลให้ผิวบริเวณที่ถอนเป็นตุ่มเหมือนหนังไก่ได้
  2. การโกนขน การกำจัดขนวิธีนี้สามารถใช้ได้กับเส้นขนหลายจุด ทั้งบริเวณรักแร้  ขนแขน  ขนขา โดยอาจใช้สบู่หรือครีมโกนหนวดที่มีขายทั่วไปทาบริเวณที่ต้องการโกนก่อน  จากนั้นจึงใช้มีดโกนโกนเส้นขนออก  การโกนนั้นต้องทำบ่อยครั้งเพราะเส้นขนจะงอกขึ้นมาใหม่เสมอ  อีกทั้งยังเสี่ยงทั้งอุบัติเหตุจากมีดโกนบาดถ้าหากโกนไม่ดีและผิวจะอักเสบจากใบมีดโกนได้
  3. การแว๊กซ์ขน เป็นการกำจัดขนอีกวิธีที่ได้รับความนิยมมาก เพราะสามารถกำจัดขนได้ลึกถึงราก  ผิวเรียบเนียนขึ้นและกำจัดขนได้แทบจะทุกจุดที่ต้องการ  โดยการใช้แว๊กซ์ทาในบริเวณที่ต้องการกำจัดขน  แล้วทิ้งไว้สักครู่จนเนื้อแว๊กซ์แข็งตัว  และดึงออกอย่างรวดเร็ว  เส้นขนจะหลุดติดมาด้วย  วิธีนี้มีข้อเสียคือจะเจ็บมากเมื่อตอนดึงแว๊กซ์ออก  และต้องรอให้เส้นขนยาวอย่างน้อย 1 เซนติเมตร จึงจะทำได้
  1. ครีมกำจัดขน ปัจจุบันมีการผลิตครีมหรือเจลที่มีคุณสมบัติในการกำจัดขนได้ โดยจะออกฤทธิ์กัดกร่อนให้เส้นขนอ่อนตัวลง  วิธีใช้ก็เพียงทาลงไปบริเวณที่ต้องการ  ทิ้งไว้สักครู่แล้วเช็ดออก  เส้นขนจะหลุดออก  วิธีนี้ต้องทำซ้ำ 2-3 ครั้ง สัปดาห์  แต่มีข้อเสียคือ  คนที่มีอาการแพ้ง่ายอาจทำไม่ได้  อีกทั้งครีมเหล่านี้อาจมีกลิ่นฉุนที่บางคนไม่ชอบ
  2. เครื่องกำจัดขนไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สำหรับกำจัดขนด้วยหลักการม้วนและดึงเส้นขนออก มีหลากหลายแบบและราคา  สามารถหาซื้อ  ใช้งานสะดวกรวดเร็ว  อาจจะเจ็บบ้างแต่น้อยกว่าการถอนแบบปกติ  อาจแสบผิวและผิวแดงได้ด้วย
  3. สูตรกำจัดขนแบบต่างๆ ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายวิธี  เช่น  การใช้ปูนแดง (แบบเดียวกับที่คุณยายของเรากินกับหมาก)    ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ  ผสมกับน้ำให้ข้นเล็กน้อย  นำไปทาบริเวณที่ต้องการกำจัดขน  ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วล้างออก  จากนั้นให้ถอนขนบริเวณนั้น  จะช่วยลดปริมาณเส้นขนที่จะงอกใหม่ในบริเวณนั้น  เพราะปูนแดงทำให้ผิวร้อนและผิวเกิดการรัดตัว  ดังนั้นจึงต้องทาโลชั่นหลังการทำเพื่อรักษาความชุ่มชื่นของผิวและลดอาการแสบ
  1. เลเซอร์กำจัดขน ปัจจุบันมีนวัตกรรมในการกำจัดขนด้วยการใช้เลเซอร์ที่มีการปรับค่าพลังงานไว้อย่างเหมาะสมและยิงลงไปบริเวณที่ต้องการกำจัดขน พลังงานของเลเซอร์ที่ส่งออกมาจะส่งผ่านลงไปยังรากของเส้นขน   เส้นขนขนาดเล็กจะหลุดร่วงออก  ส่วนเส้นขนที่มีขนาดใหญ่จะค่อยๆ หลุดออกเมื่อยิงเลเซอร์ต่อเนื่อง  ไม่มีอันตราย

วิธีดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น  การเลือกวิธีกำจัดขนที่เหมาะสมกับตัวเองนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละคน  สิ่งที่ต้องทราบอีกอย่างหนึ่งคือ  การกำจัดขนนั้นจะส่งผลต่อสภาพของผิวหนังในบริเวณที่ทำด้วย  เช่น  อาจเกิดการอักเสบ รอยแดง  หรืออาจรุนแรงจนเกิดแผลได้  ดังนั้นการเลือกวิธีรวมถึงการดูแลผิวภายหลังการกำจัดขนจึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจควบคู่กันไป  เช่น  อาจใช้ครีมบำรุงผิวทาเพื่อฟื้นคืนสภาพผิวให้กลับมาชุ่มชื่นเรียบเนียน  ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพื่อผิวที่ไร้เส้นขนกวนใจ  เรียบเนียนสดใสในแบบที่ต้องการ

บทความโดย  นิติพล คลินิก

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  เลเซอร์กำจัดขนที่ไหนดี แนะนำโปรแกรม C Hair Reduction

ลงทะเบียนรับบริการเลเซอร์กำจัดขนรักแร้ในราคาพิเศษ  วันนี้ – 31 ตุลาคม 2559